ประวัติปั้นชาจีน
ปั้นชาคือกาดินเผาที่ใช้ชงชา
ขนาดที่นิยมสะสมกันมีตั้งแต่ขนาดเล็กเท่ากำปั้นผู้หญิง ไปจนถึงขนาดเท่าผงแตงโมเล็กๆดินที่ใช้ทำปั้นชาจะมีความเหนียวแน่นอยู่ในระดับกลางระหว่างเนื้อแน่นกว่าดินกระถางต้นไม้ แต่มีรูพรุนมากกว่าดินเคลือบน้ำเคลือบแบบเซรามิค
ยุคแรกๆที่ชาวจีนดื่มชาจะใช้หม้อต้มและเทลงดื่มในชาม ต่อมาประมาณตอนต้นศตวรรษที่16 มีการค้นพบปั้นชาขึ้น โดยเด็กรับใช้ผู้ติดตามคุณชายตระกูลอู๋ที่กำลังจะไปสอบจอหงวนและได้แวะพักที่วัดซื่อจิน ซาใกล้ๆเมืองอี๋ชิง วัดแห่งนี้มีเตาเผาของตนเองและพระที่อยู่ในวัดจะปั้นภาชนะดินใช้เอง วันหนึ่งหลังจากเตรียมชงน้ำชาให้คุณชายท่องหนังสือเรียบรอยแล้ว เด็กรับใช้ชื่อกงชุนผู้นี้ได้หลบมาพักผ่อนและเห็นพระกำลังปั้นภาชนะดินอยู่จึงเข้าร่วมวง ปั้นไปปั้นมาจึงปั้นเป็นภาชนะทรงกลมมีฝาปิดด้านบนเติมหูจับต่อพวยปากออกมา จึงกลายมาเป็นอุปกรณ์ชงชาและกรองใบชาสำหรับใช้ชงชาให้คุณชายอู๋ได้ ปั้นใบแรกที่คุณชายอู๋ใช้นั้น ยังคงมีรอยนิ้วมือที่คุณชายอู๋ติดอยู่อย่างชัดเจน
ปั้นชาดี ดินอี๋ ชิง
อี๋ ชิง เป็นชื่อเมืองเล็กๆในมลฑลเจียง ซู ประเทศจีน ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ด้วยเป็นถิ่นกำเนิดปั้นชาแห่งแรกของโลก และยังเป็นต้นแบบ ของภาชนะชงชาชุดเครื่องเงินของราชินีวิคตอเรียแห่งอังกฤษ ปั้นอี๋ชิง มีบทบาทสำคัญในสังคมและวัฒนธรรมจีนมามากกว่า 500 ปี ปั้นชาจีนที่เล่นกันเป็นทำที่เมืองงี่เฮ็ง ในมณฑลเจียงซู ว่ากันว่าเมืองนี้ หาดินสำหรับทำปั้นได้ง่ายกว่าที่อื่น ดินนั้นเอาหลายอย่างมาผสมกันปั้นได้หลายสีเป็นดินละเอียดเนื้อแข็ง ดินของเมืองนี้มีลักษณะพิเศษมากคือเป็นดินปนทราย เนื้อละเอียดเผาแล้วแข็งกว่าดินที่ใช้ทำหม้อทำไห และมีแร่ธาตุหลายชนิดที่เหมาะในการทำปั้นซึ่งเป็นลักษณะที่ทำให้ดินอี๋ชิงโดดเด่นจากเครื่องปั้นดินเผาจากภาคอื่นๆ
ดินอี๋ชิงมีสีพื้นฐานที่นิยมทำปั้นชาอยู่ดังนี้
1.ดินจื่อซา มีสีตับหมู หรือรู้จักในนาม Purple clay
2.ดินจู ซา มีสีแดง
3.ดินเปิ่นซันหลู มีสีขาวครีม
ศิลปะของดินอี๋ ชิง แรกกำเนิดในราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ.960-ค.ศ. 1279) รุ่งโรจน์ที่สุดในสมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-ค.ศ.1644) และราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-ค.ศ.1911) จนถึงปัจจุบัน
ปั้นชาในไทย
ในประเทศไทยเรานั้น ปั้นชาที่นิยมเล่นตั้งแต่อดีตมา(ประมาณสมัยกรุงธนบุรี)เรียกเป็นสองชนิด
1.ปั้นที่มีหูติดอยู่ข้างๆสำหรับสอดนิ้วเข้าไปหยิบยก เรียกว่าปั้นหู
2.ปั้นที่มีเครื่องจับหิ้วติดด้านบน เรียกว่า ปั้นสาย
ผู้ที่มีฐานะดีนิยมเลี่ยมปั้นด้วยทอง เงิน หรือทองเหลือง ในขณะที่ชาวจีนไม่นิยมเลี่ยมปั้นเลย
รูปปั้นที่นิยมเล่นกันกำหนดเป็นสองประเภท คือ
ชนิดที่จีนคิดเรียกว่าปั้นจีน ส่วนชนิดที่ไทยคิดรูป ส่งออกไปสั่งเมืองจีนทำเรียกว่าว่าปั้นไทย หรือปั้นอย่าง ส่วนปั้นที่มีรูปพลิกแพลงคิดเป็นของดูเล่นผิดจากรูปทรงที่ใช้กันทั่วไปเรียกว่าปั้นตลก เมืองไทยเรานิยมเล่นปั้นกันในสมัยรัชกาลที่ 5 การที่คนไทยนิยมปั้นใบเล็กๆขนาดเท่ากำปั้นผู้หญิงนั้นเพราะได้รับอิทธิพลจากชาวจีนแต้จิ๋วและฮกเกี้ยนที่เข้ามาตั้งรกรากในสมัยนั้น จีนทั้งสองมณฑลเป็นจีนภาคใต้ที่นิยมดื่มชาชั้นดี ชื่อชาจุ้ยเซียน และชาทิ กวน อิม ชาทั้งสองมีกลิ่นหอม รสชาติดี ราคาแพง จึงมักใช้ปั้นชาใบเล็กๆชง เพราะจะให้รสชาติดีกว่าชงด้วยปั้นใบโตๆ จึงมีการสั่งปั้นชาจากเมืองอี๋ชิงใบขนาดเล็กเข้ามาจำนวนมาก ปั้นชาเหล่านี้ เมื่อใช้ไปนานๆจะขึ้นเงาสวยงามผู้ดื่มชาจึงนิยมแข่งขันกันถึงความเงางามว่าปั้นใครจะขึ้นเงากว่ากัน
(อ้างอิงข้อมูลจากหนังสือระบำชา พิมพ์เมื่อ 1 มีนาคม 2544 เขียนโดย ม.ล จิราธร จิระประวัติ) |